ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้มีการตั้งนามสกุลขึ้นมาเพื่อความเป็นสากลเหมือนกับประเทศทางตะวันตก โดยพระองค์ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 ดังที่จะขอหยิบยกเอา 10 นามสกุลที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถึงตัวตนของบรรพบุรุษแต่ละนามสกุลมาให้ทุกท่านได้อ่านเพื่อเป็นองค์ความรู้ต่อไป
1. “บุนนาค” นับว่าเป็นตระกูลที่เก่าแก่ที่สุดอีกตระกูลหนึ่งของไทย บรรพบุรุษของสกุลนี้สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) มีนามว่า “เฉกอะหมัด” ที่เข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เชื้อสายของตระกูลนี้ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่หลายท่าน บางท่านได้เป็นถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และยังเป็นต้นกำเนินของพระมเหสี พระราชโอรส-ธิดาอีกหลายพระองค์ นับได้ว่าช่วงหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น บุนนาค เป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลสูงสุดของไทย
2. “ณ บางช้าง” สกุลเก่าแก่ที่สืบสายมาแต่ ขุนนางและเจ้านายในวงศ์พระร่วงแห่งกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นต้นกำเนิดของท่านผู้หญิงนาค ภริยาเอกในเจ้าพระยาจักรี ภายหลังท่านผู้หญิงนาคผู้นี้ก็คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่1 และเป็นพระบรมราชชนนี(แม่)ในรัชกาลที่2ซึ่งแตกมาเป็นราชสกุลดังๆ เช่น กุญชร,ปราโมช,มาลากุล,สนิทวงศ์ เป็นต้น
3. “วัชโรทัย” สืบสกุลมาจากพระยาอุทัยธรรม เจ้ากรมภูษามาลาในรัชกาลที่1 ซึ่งพระยามีชื่อนี้ท่านเคยรับราชการเป็นภูษามาลาในสมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ จึงเข้ามาถวายตัวเป็นข้าทูลละอองพระบาท จึงทำให้สกุลวัชโรทัยรั้งตำแหน่งหน้าที่ภูษามาลาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
4. “สุจริตกุล” ต้นตระกูล คือหลวงอาสาสำแดง และท้าวสุจริตธำรง ผู้สืบเชื้อสายมาจากขุนนางในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ในกรุงรัตนโกสินทร์ ถือได้ว่าเป็นสกุลที่มั่งมีวาสนาและเก่งด้านการค้าพอสมควร พระอัครมเหสีและราชินีหลายพระองค์มีเชื่อสายมาจากสกุลนี้ เช่น พระนางเจ้าสุนันทา(พระนางเรือร่ม), พระนางเจ้าสว่างวัฒนา(พระอัยยิกาหรือย่าในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน) , และพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ผู้เป็นต้นกำเนิดราชสกุล“จักรพงษ์” เป็นต้น
5. “ณ ป้อมเพชร” ตระกูลนี้เก่าแก่พอดู สืบทอดเชื่อสายและรั้งตำแหน่งขุนนางใหญ่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปลูกบ้านอยู่บริเวณป้อมเพชร ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระสมุทบุรานุรักษ์ ผู้สืบเชื้อสายได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา” (ขำ ณ ป้อมเพชร์) อธิบดีกรมราชทันฑ์คนแรกของประเทศไทย
6. “โรจนกุล” ตระกูลของเจ้าพระยาพิษณุโลก สืบเชื้อสายมาจากบิดาซึ่งเป็นพราหมณ์ชื่อ พราหมณ์ศิริวัฒนะ ราชปุโรหิตในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา
7. “อมาตยกุล” เป็นอีกตระกูลที่รั้งตำแหน่งขุนนางตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา และเป็นขุนนางสืบต่อกันมาเรื่อยโดยไม่เว้นช่อง ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง จนถึงกรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ รวมแล้วกว่า3ราชวงศ์ 15 รัชกาล เพราะถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างเต็มกำลังและสุจริต จึงทำให้หลายท่านเป็นพระยา เป็นขุน เป็นหลวง เป็นพระ และแตกสาขาออกไปอีกนับร้อย จึงนับว่าลูกหลานในสกุลนี้ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการเกือบทั้งสิ้น
8. “ณ นคร” สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรย์ เจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราช แห่งราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงนายสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราช
9. “บุรณศิริ” เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ต้นตระกูล “บุรณศิริ” เป็นผู้สืบเชื้อสายจากพราหมณ์เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย เข้ารับราชการตั้งแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ต้นตระกูล บุรณศิริ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาธรรมกรณาธิบดี” เสนาบดีกระทรวงวัง ต่อมาเมื่อชราได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯเปลี่ยนราชทินนามเป็น “เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี”
10. “ราชตระกูลสายสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก” ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีพระคลังในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นออกพระวิสุทธสุนทร และได้เดินทางไปถวายพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ พ.ศ. 2228 มีดังนี้ นรินทรางกูร เทพหัสดิน มนตรีกุล อิศรางกูร เจษฎางกูร นรินทรกุล
**ดังนั้นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาในปัจจุบันจงระลึกไว้เสมอว่า ต้นตระกูลของท่านได้ประกอบคุณงามความดี รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมาแต่กาลก่อนก็มากมาย และสั่งสมบารมีความดีงามสืบมาจนถึงปัจจุบัน ลูกหลานจงรักษาความดีงามของชาติตระกูลไว้อย่าให้ใครว่าถึงตระกูลได้ ไม่ว่าจะตระกูลไหนๆ จะเก่าหรือใหม่ก็จงรักษาความดีนี้ไว้ตลอดไป
จากภาพ คือ พระรูปหมู่เจ้านายผู้สืบสายราชสันตติวงศ์สายตรงในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่4 ผู้เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2
ที่มา: คลังประวัติศาสตร์ไทย